นคร กิตติอุดม (นักดับเบิลเบส)

FACEBOOK : Nakorn Kitiudom

As Principal Double Bass with the Thai National Symphony Orchestra and Principal Double Bass of the Bangkok Symphony Orchestra.  His instructor include Mr.Jolel Jenny in the Lysy International String Institute program, Mr.Jeffrey Turnur, Mr.Stephen Tramontozzi  and Mr.Joseph Charles Lescher.  Mr.Nakorn Kitiudom trained at Chulalongkorn University with Mr.Samatcha Srivaranon and Professor Hans Krul at the Rotterdam  Conservatory (Netherlands). He joined "ASEAN Youth music workshop" in Indonesia. In 1991, he was chosen a Double Bass Principal in the  ASEAN Youth Orchestra and also joined summer camp with  Asian Youth Orchestra (AYO) in 1994,1996 and 1997. He has been the guest artist of Chulalongkorn Symphony Orchestra in 2001  and he played the Koussevitzky Double Bass Concerto.  It is the first time in Thailand for the Double Bass Concerto.

ประวัติทางด้านการศึกษา

2528 – 2532

เริ่มศึกษาดนตรีครั้งแรกที่ โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ กับพลเรือตรี วีระพันธ์ วอกลาง และนาวาเอก ดร.วิษณุเทพ ศิลปะบรรเลง

2532

ได้เข้าร่วมโครงการ Alberto Lysy International Music Camp โดยได้ศึกษาทักษะการเล่นดับเบิลเบสกับ Jolel Jenny

2532 – 2537

เข้ารับราชการที่กองดุริยางค์ทหารเรือ หมวดซอวง ตำแหน่งนักดับเบิลเบส

2537 – 2541

จบการศึกษาปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศึกษาวิชาเอกดับเบิลเบสกับ อาจารย์สมัชชา ศรีวรานนท์ และได้ศึกษาเพิ่มเติมกับ Wolfgang Steike (Principal Double Bass of MPO)

2539 – 2541

ได้รับทุนการศึกษาจาก Rotterdam Conservatory  ประเทศเนเธอร์แลนด์ สาขาดนตรีคลาสสิค วิชาเอกการแสดงเดี่ยวดับเบิลเบส โดยศึกษากับ  Prof.Hans Krul  และในระหว่างนั้นได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมกับ Jeffrey Turnur, Stephen Tramontozzi และ Joseph Charleds Lescher พร้อมศึกษาวิชาดับเบิลเบส สาขาแจ๊ส เพิ่มเติมกับ Prof.Hans

ประสบการณ์ด้านการแสดง

2532 – ปัจจุบัน

เป็นสมาชิกวง Royal Bangkok Symphony Orchestra ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มดับเบิลเบส

2536

ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการ ASEAN Youth Music Workshop in Indonesia

2537 – 2540

ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกของวงดุริยางค์เยาวชนแห่งเอเชีย (ASIAN Youth Orchestra) และมีโอกาสได้ไปแสดงคอนเสิร์ตในหลายๆ ประเทศ อาทิเช่น ประเทศญี่ปุ่น, จีน, สิงค์โปร์, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี ฯลฯ

2539

- ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการ ASEAN Youth Music Workshop in Thailand ตำแหน่ง Principal Double Bass
- ได้รับเชิญให้เข้าร่วมบรรเลงกับวง World Philharmonic Orchestra ภายใต้การควบคุมวงของ Myung-Whun Chung

2541

ได้รับเกียรติ เป็นนักดนตรีรับเชิญในวง Kuala Lumpur Symphony Orchestra

2541 - ปัจจุบัน

ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวงไหมไทย แชมเบอร์ ภายใต้การควบคุมวงของอาจารย์ ดนู ฮันตระกูล

2542

ได้มีโอกาสแสดงเดี่ยวดับเบิลเบส ในงานพิธีเปิด คณะดุริยางค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเสด็จทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

2542 - 2547

ได้เข้ารับราชการที่ วงกรมศิลปากร (Thai National Symphony Orchestra) โดยได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มดับเบิลเบส

2543

ร่วมบรรเลงเดี่ยวดับเบิลเบสกับวง จุฬาลงกรณ์ซิมโฟนีออเคสตรา เป็นผลงานการประพันธ์ในบทเพลง Concerto for Double Bass and Orchestra ภายใต้การควบคุมวงของ ผศ.พ.อ.ชูชาติ พิทักษากร

2544

ได้รับเชิญให้เข้าร่วมบรรเลงกับวง Kyushu Symphony Orchestra ประเทศญี่ปุ่น

2544 – 2546

ได้รับเชิญเข้าร่วมบรรเลงกับวง National Symphony Orchestra ประเทศมาเลเซีย ( Istana Budaya )

2548

ได้รับเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็นตัวแทนนักดนตรีไทย เข้าร่วมบรรเลงในวงดุริยางค์อาเซียน - เกาหลี โดยได้รับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มดับเบิลเบสในงานฉลองความสัมพันธ์ระหว่าง  ASEAN - KOREA

2549

เข้าร่วมบันทึกเสียงและร่วมบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ในโครงการ
“สดุดีดนตรีมหาราชา” ภายใต้การควบคุมวงของ ฯพณฯ พลเรือตรี หม่อมหลวงอัสนี ปราโมช ที่ประเทศเวียดนาม, มาเลเซีย, สิงค์โปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์ และเกาหลี

2550

ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิก  แห่งประเทศไทย  (TPO)
ตำแหน่งCo-Principal

2551

ได้รับเชิญเข้าร่วมวงดุริยางค์ซิมโฟนีออเคสตราในเทศกาลฉลองครบรอบ
50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่าง เกาหลี - ไทย

2555

ได้เข้าร่วมบรรเลงกับวง Central Aichi Symphony Orchestraตำแหน่ง Co-Principalในงาน Asia Orchestra Week 2012 ที่ประเทศไทย

2554 - ปัจจุบัน

จัดตั้งและร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับวงไทยดับเบิลเบสอองซอมเบิล ในรายการคอนเสิร์ตประจำปีของ สมาคมดับเบิลเบสและเครื่องสาย

2559

ได้เข้าร่วมบรรเลงกับวง Central Aichi Symphony Orchestraตำแหน่ง Co-Principalในงาน Asia Orchestra Week  2016 ที่ประเทศญี่ปุ่น

2560

ได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศ ให้เข้าร่วมแสดงในนามของวงบางกอกซิมโฟนีออเคสตรา ในเทศกาลฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 130 ปี ไทย – ญี่ปุ่น

ประสบการณ์ด้านการสอน

2532 – 2544

- อาจารย์สอนพิเศษ โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ

- อาจารย์สอนพิเศษ สาขาวิชาเอกดับเบิลเบส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- อาจารย์สอนพิเศษ สาขาวิชาเอกดับเบิลเบส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

- อาจารย์สอนพิเศษ สาขาวิชาเอกดับเบิลเบส มหาวิทยาลัยศิลปากร

- อาจารย์สอนพิเศษ สาขาวิชาเอกดับเบิลเบส มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

- อาจารย์สอนพิเศษ สาขาวิชาเอกดับเบิลเบส มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์สอนพิเศษ วงดุริยางค์เยาวชนไทย สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม

2542 

อาจารย์สอนพิเศษ โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก

2543 – 2547

อาจารย์สอนพิเศษ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

2544 – ปัจจุบัน

อาจารย์สอนวิชาดับเบิลเบสคลาสสิค - แจ๊ส ประจำสมาคมดับเบิลเบสและเครื่องสาย เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวง Thai Double Bass Ensemble  ภายใต้ สมาคมดับเบิลเบสและเครื่องสาย โดยดำรงตำแหน่ง เลขานุการสมาคมดับเบิลเบสและเครื่องสาย และยังทำหน้าที่เรียบเรียงเสียงประสานจัดหาโน้ตเพลงให้กับวง

Picture with Great Artist

Picture with VIP Customer

Picture with Luthier

บทสัมภาษณ์ จากนิตยสาร LIPS

In the Rhythms of Life
นคร กิตติอุดม

ในบ่ายที่ท้องฟ้าภายนอกประเดี๋ยวแดดออก ประเดี๋ยวครึ้มฟ้าครึ้มฝน ในสตูดิโอลิปส์ก้องกังวานด้วยเสียงเพลงที่ถูกบรรเลงขึ้นอย่างไม่เป็นทางการจากเครื่องสายเพียงไม่กี่ชิ้น เป็นวงอองซอมเบิล (Ensemble) ที่ประกอบขึ้นด้วยนักดนตรีเพียงไม่กี่คน นี่มิใช่การแสดงครั้งพิเศษอะไรนัก นคร กิตติอุดม มือดับเบิลเบส (Double Bass) อันดับต้นๆ ของเมืองไทย พากลุ่มนักดนตรีมาให้บรรณาธิการบริหารนิตยสารลิปส์ได้บันทึกภาพพวกเขาครั้งใหญ่ เพื่อนำไปใช้ในงานสำคัญ ทว่า เมื่อสิ้นเสียงชัตเตอร์ลั่นรอบสุดท้าย บทเพลงหวานก็อวลขึ้นราวกับผู้เล่นได้ยินใครบางคนเอ่ยขอ
“ความสุขของผมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แค่ผมได้เล่นดนตรี”
ชายผู้กำลังไล่นิ้วของตนไปบนสายดับเบิลเบสได้เอ่ยไว้ในบทสนทนาระหว่างเราเมื่อสองวันก่อน หลังจากเราบุกไปถึงร้าน Bravo Music ร้านขายเครื่องดนตรีสากลประเภทเครื่องสายเฉพาะทาง ย่านอรุณอัมรินทร์ ที่เขาเป็นเจ้าของ
“โดยเฉพาะการได้เล่นกับน้องๆ ในวงดับเบิลเบสอองซอมเบิล เป็นการเล่นดนตรีที่มีความสุขที่สุดสำหรับผมแล้ว”
ในวันที่ฟ้าฝนแปรปรวน พี่ใหญ่ของวงอย่างนคร กิตติอุดม ก็คงพอจะมีความสุขกับการแสดงเฉพาะกิจบนพื้นที่สตูดิโอเล็กๆ เช่นวันนี้อยู่ไม่มากก็น้อย
แต่แม้การเล่นดับเบิลเบสกับวงขนาดเล็กจะถูกยกให้เป็นความสุขเบอร์หนึ่งในฐานะนักดนตรี แต่ใช่ว่าหมวกใบอื่นๆ ที่เขากำลังสวมอยู่นี้จะเทียบค่าไม่ได้ วันนี้ นอกจากนครจะเป็นนักดับเบิลเบสที่ผ่านประสบการณ์การเล่นเวทีใหญ่และสำคัญมาอย่างโชกโชน หากแต่ถ่อมตัวว่าลดถอยมาเป็นเพียงมือสมัครเล่นในปัจจุบันแล้ว เขายังเป็นเลขานุการสมาคมดับเบิลเบสและเครื่องสาย เป็นหัวเรือใหญ่ของวง Thai Double Bass Ensemble เป็นครูสอนเล่นดับเบิลเบสที่วันนี้สอนนักเรียนเพียงหนึ่งคน เป็นคนเขียนเพลงสำหรับเล่นในวง เป็นพ่อค้าธุรกิจเครื่องดนตรี อีกทั้งเป็นช่างซ่อมที่สนุกกับการซ่อมเครื่องดนตรีในเวิร์คชอปของตัวเอง ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด หมวกทุกใบก็เชื่อมโยงอยู่กับดนตรีที่เขารักทั้งสิ้น
หากได้ย้อนความไปถึงวัยเยาว์ ก็ยังเรียกได้ว่าความรักในดนตรีของเขาซึมลึกอยู่ในสายเลือด
“ผมเกิดในครอบครัวที่ทำธุรกิจโรงโม่หินที่ราชบุรีครับ พ่อทำธุรกิจแต่ก็ชอบเล่นดนตรีมาก เล่นเม้าท์ออร์แกน แอคคอร์เดียน กีต้าร์ เล่นเป็นโดยพรสวรรค์ แต่ไม่ถึงขั้นอ่านโน้ตได้ พี่ชายของผมสองคนก็เล่นได้เหมือนคุณพ่อ ไม่ได้เรียนดนตรีแต่ก็จับกีต้าร์มาตีคอร์ดได้เหมือนกัน ผมเห็นพ่อและพี่ๆ เล่นดนตรีมาตั้งแต่ผมยังเด็ก จนตัวเองรู้สึกชอบ เรียกว่าอยู่ในสายเลือดเลยก็ได้ นึกถึงบรรยากาศต่างจังหวัดสมัยก่อนที่ไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำมาก ว่างๆ ผมก็หยิบกีต้าร์ของพี่มาเล่น แต่ที่เล่นกีต้าร์เป็นจริงๆ ก็ตอนมาอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว แต่ก็ตีคอร์ดไปตามประสา
…ผมเรียนที่ราชบุรีจนถึง 10 ขวบ ก็ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ที่โรงเรียนทวีธาภิเศก ได้อยู่ห้องที่ 9 ซึ่งเป็นดนตรีสากล เครื่องดนตรีที่ผมเล่นคือแซกโซโฟน แต่ก็เรียนที่นั่นได้ถึงแค่ ม. 2 ก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ จึงได้เรียนดนตรีอย่างจริงจัง สาเหตุที่ผมย้ายไปเรียนที่นั่น หนึ่งคือ คุณน้าของผมเป็นนักดนตรีของกองดุริยางค์ทหารเรือ และสมัยที่ผมอยู่ที่ราชบุรี ผมก็ได้เห็นคุณน้าออกทีวีอยู่เรื่อยๆ เช่นในงานเขาดิน ที่มีดนตรีเล่นด้วย คุณน้าเล่นอิเล็กทริกเบส ซึ่งดูเท่มากสำหรับผม
…สองคือ โรงเรียนทวีธาภิเศก ข้ามคลองมอญไปก็เป็นดุริยางค์ทหารเรือ แล้วห้องเรียนของผมอยู่บนตึกสูง ผมก็จะเห็นนักดนตรีเขาเดินแปรขบวนกัน เห็นอยู่ทุกวันๆ พอดีกับที่แม่มาบอกว่าคุณน้าอยากให้ผมเข้าเรียนที่ดุริยางค์ทหารเรือ สนใจไหม ช่วงนั้นภาระทางบ้านเยอะมากด้วย พ่อและแม่ผมแยกกันอยู่ การเรียนที่ดุริยางค์ทหารเรือก็จะช่วยแบ่งเบาได้ ผมก็เลยไปสอบเข้า และสอบผ่านการคัดเลือก เพราะเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว
…พอเข้าไปเรียนแล้ว ผมก็ต้องเลือกเครื่องดนตรีเมเจอร์ ผมเลือกดับเบิลเบสทันที แต่อาจารย์ก็ไม่ยอมให้เลือก เขาบอกให้ผมเล่นเชลโล ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับโควต้าของเครื่องดนตรี หรือเครื่องดนตรีตำแหน่งนี้ยังขาดคนเล่นอยู่ จึงอยากให้เด็กมาเล่น แต่ถ้าให้ผมเลือกเอง ระหว่างดับเบิลเบสกับเชลโล ผมเลือกดัมเบิลเบสแน่ๆ คงเพราะมาจากคุณน้าที่เล่นอิเล็กทริคเบสนั่นล่ะครับ พื้นฐานมันก็มาจากดับเบิลเบส ผมก็อยากเล่นอะไรที่ผมเห็นภาพนั้นมาตั้งแต่เด็ก และเท่ในความรู้สึกของผม”
หลังจากต้องจับเชลโลในแรกเริ่ม แต่เมื่อขยับขึ้นชั้นปีที่ 2 เด็กหนุ่มก็ได้เล่นดับเบิลเบสตามที่ใจฝัน แม้เขาจะเล่าติดตลกว่า อันที่จริงภาพลักษณ์ของนักดับเบิลเบสในยุคนั้น ออกไปทางชายแก่พุงพลุ้ย ต่างไปจากลุคเท่ๆ ของคุณน้าที่เล่นอิเล็กทริกเบสด้วยซ้ำ
“พอเข้าปี 3 ผมก็ได้เข้าวงหัสดนตรีของดุริยางค์ทหารเรือ ซึ่งเป็นวงที่คนที่ได้เล่นจะรู้สึกภาคภูมิใจมาก เพราะต้องมีทักษะพอสมควร ผมเล่นตำแหน่งริทึ่มเซคชั่น เป็นประเภทดับเบิลเบส กลอง กีต้าร์ วงหัสดนตรีก็คือแจ๊สแบนด์นั่นล่ะครับ หรือภาษาชาวบ้านทั่วไปเขาก็เรียกว่าวงบิ๊กแบนด์ จริงๆ แล้วเด็กปี 3 จะไม่ได้เล่นตำแหน่งริทึ่ม เขาจะเอาเด็กโตมาเล่น แต่จังหวะชีวิตของผมถือว่าโชคดี ผมได้เล่นตั้งแต่ปี 3 พออยู่ปี 5 ผมก็โบยบินแล้ว คือไปเล่นเป็นวงชาโดว์ (วงดนตรีขนาดเล็ก) กับเพื่อนๆ เล่นตามงานราชการ งานโรงเรียน ไปเล่นข้างนอกกันด้วย
…คนเล่นดนตรีสมัยก่อนนี่ลำบากมากนะ เราเล่นกันถึงตี 5 แล้วตี 5 ครึ่ง ก็ต้องตื่นขึ้นมาวิ่ง เพราะดุริยางค์ทหารเรือเป็นโรงเรียนประจำที่สอนทั้งวิชาทหารและวิชาดนตรีควบคู่กันไป ตื่นแล้ว ก็ทำความสะอาด กินข้าว เข้าแถวเคารพธงชาติ เริ่มเรียน ช่วงเช้าก็จะเรียนทฤษฎีต่างๆ พอช่วงบ่ายก็เป็นการปฏิบัติ ฝึกซ้อมประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน 4 โมงเย็นก็วิ่งต่อ วิ่งเช้าวิ่งเย็น แถมดึกๆ บางทีต้องตื่นมาวิ่ง คือโดนทำโทษ สมัยนั้น ร่างกายของผมจึงแข็งแรงมาก”
แล้วคู่สนทนาก็ใช้คำเดิมอีกครั้งว่า จังหวะชีวิตของเขาโชคดีที่ได้เข้าไปเป็นหนึ่งสมาชิกของวงบางกอกซิมโฟนีออเคสตร้า (BSO - Bangkok Symphony Orchestra) ทั้งที่ตนยังไม่จบชั้นปีที่ 5 ดี อีกยังได้เข้าแคมป์ที่ทางวงจัดขึ้น โดยมีการเชิญนักดนตรีระดับโลกมาให้ความรู้กับนักดนตรีไทย ในสมัยที่นักดนตรีไทยต้องขวนขวายหารู้เองอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ผมเข้าร่วมเวิร์คชอป 2 อาทิตย์ ทำให้เปลี่ยนทัศนคติของการเล่นแบบเดิมๆตั้งแต่การจัดท่าทางของการเล่นเครื่องดนตรี (Posture) ในการเล่นดับเบิ้ลเบส ไปจนถึงความคิดทุกอย่างที่เปลี่ยนหมดเลย แต่คุณต้องมีจิตใจที่แนวแน่ว่าจะปรับตามที่ครูฝรั่งเขาสอน ผมก็ซ้อมเองหน้ากระจกวันละประมาณ 5-6 ชั่วโมง เพราะต้องดูท่าทางของตัวเองให้ทุกอย่างถูกต้อง ในยุคนั้นมีครูคนไทยที่สอน ซึ่งครูผู้สอนก็มิได้มีความรู้ที่เป็นสากลมากนัก อย่างการเล่นเบสแบบโซโลเดี่ยว พอผมได้เรียนหลักสูตรนั้น จึงได้รู้จักการโซโล”
หลังจบจากโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ และเป็นสมาชิกในวงบางกอกซิมโฟนีออเคสตร้า เส้นทางดนตรีของชายหนุ่มก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เขาได้รับคัดเลือกให้เข้าวง Asian Youth Orchestra ที่เป็นโอกาสอันดีในการแสดงคอนเสิร์ตในหลายๆ ประเทศ ทั้งทางแถบเอเชีย ยุโรป และอเมริกา อีกทั้งยังได้เข้าร่วมแสดงในวง Southeast Asian Youth Orchestra ในตำแหน่งนักดับเบิลเบส ณ ประเทศอินโดนีเซีย และอีกครั้งในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มดับเบิลเบสซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย
“การได้เจอนักดนตรีชาติอื่น ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีการแข่งขันกันบ้าง ศิลปินมาเจอกัน ทุกคนก็อยากเก่ง อยากพัฒนา แต่ผมไม่ได้คิดจะแข่งกับใคร แต่ต้องแข่งขันกับตัวเอง และสิ่งที่เรียนรู้เองได้มากที่สุดคือจากซีดี เวลาไปแคมป์เยาวชน ผมจะไปตามร้านซีดีเพื่อหาเพลงดับเบิ้ลเบสโซโลเอามาฟัง แต่ก็ไม่มีโน้ตอีก ก็ต้องพยายามหาซื้อมาจากที่ต่างๆ อีก
…การได้ร่วมวงเยาวชนระดับนานาชาติทำให้ผมโตขึ้นอีกระดับหนึ่ง จากอาเซียนขึ้นมาเป็นเอเซียนก็จะเจอโลกกว้างมากขึ้น ทั้งนักดนตรีที่เก่งกว่าหลายสิบเท่า ครูจากฝั่งยุโรป อเมริกา ที่มาสอนให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และขยันฝึกซ้อมมากขึ้น ส่วนเรื่องปัญหาที่เจอคือเรื่องของภาษา ทำให้ผมคิดเลยว่าภาษาอังกฤษสำคัญมาก ผมจึงหาโอกาสเรียนภาษาเพิ่มเติม”
วิชาดนตรีของนักเรียนดับเบิ้ลเบสผู้นี้เข้มข้นขึ้น เมื่อเขาได้เข้าศึกษาต่อในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาดุริยางค์ตะวันตก โดยมีอาจารย์สมัชชา ศรีวรานนท์ นักดับเบิลเบสฝีมือฉกาจของไทยเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ กระทั่งชั้นปีที่ 3 เขาก็กลายเป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับทุนการศึกษาจาก Rotterdam Conservatory ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชีวิตนักศึกษาดนตรีในรั้วจามจุรีจึงถูกคั่นไว้ เพื่อพาตนเดินทางไปสู่ดินแดนใหม่ที่เปิดโลกทางดนตรีได้ลึกและกว้างยิ่งกว่าที่ผ่านมา
“ผมไปเรียนที่เนเธอร์แลนด์ 2 ปี เป็นอินเทนซีฟคอร์ส โดยเรียนสาขาดนตรีคลาสสิก วิชาเอกดับเบิลเบส และมีเรียนแจ๊สควบคู่ไปด้วย เพราะผมชอบแจ๊สเป็นการส่วนตัว อย่างที่เล่าว่าตั้งแต่ยังไม่จบจากโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ ผมก็เริ่มออกเล่นดนตรีมีรายได้แล้ว เล่นตามผับ ตามบาร์ ก็เล่นเพลงแจ๊สเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาก็เรียกขำๆ ว่าแจ๊สตึ่ง แจ๊สตึ่ง แจ๊สตึ่ง แจ๊ส (หัวเราะ) ผมมองว่าถ้าไม่ใช่แจ๊สลึกๆ ก็ยังฟังง่าย อีกอย่างคือแจ๊สเป็นการใช้อิมโพรไวส์ คือใช้ไหวพริบปฏิภาณ คุณสามารถครีเอทโน้ตคุณเองได้ บนโครงสร้างที่เขาตั้งมาให้ แต่คนเล่นต้องมีทฤษฎีควบคู่กันไป ต้องรู้ว่าใครทำหน้าที่อะไร เนื่องจากไม่มีโน้ตมากำกับเหมือนดนตรีคลาสสิก แจ๊สจึงสนุกสำหรับผม มีแค่คอร์ดมาวาง แล้วที่เหลือคิดกันเองเลย
…การไปเรียนที่นั่น ทำให้ผมได้ประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์การเล่นดนตรีเยอะมาก ผมได้เล่นทุกวง ตั้งแต่วงแชมเบอร์ (Chamber) ไปจนถึงวงออเคสตร้า ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจนะ เพราะเขาส่งผมมาเพื่อให้รู้จักการเล่นเป็นวง เอาเข้าจริง จบจากดุริยางค์ทหารเรือ ผมยังไม่รู้วิธีการเล่นวงที่ถูกต้องเลย คำว่าเล่นเป็นของคนไทยสมัยนั้นคือคุณเข้าไปนั่งในวง คุณอ่านโน้ตเป็น แต่คุณไม่รู้จักวิธีลีด (Lead) ในที่นี้หมายถึงถ้าคุณได้เป็นหัวหน้า แต่ครูฝรั่งเขาจะมีหลักการสอนว่าใครทำหน้าที่อะไรในวงออเคสตร้า รายละเอียดมากกว่าแค่คุณเห็นโน้ตแล้วเล่นเพลงได้ เบสในวงมี 8 ตัว จะทำอย่างไรให้ทุกตัวพูดไปในทางเดียวกัน มีสำเนียงเดียวกัน ซึ่งต้องมีการซ้อมด้วยกันในห้องก่อน 3 ชั่วโมง พอทุกคนเล่นพร้อมและสำเนียงเหมือนกันแล้ว เราค่อยไปรวมตัวกับทีมเครื่องดนตรีชนิดอื่น
…ทุกเซคชั่นในวงต้องพูดสำเนียงเดียวกัน แม้กระทั่งภาพลักษณ์ ถ้าคนเล่นดับเบิลเบสเล่นคันชักขึ้น เชลโลเล่นคันชักลง เสียงอาจจะได้ แต่ภาพไม่ได้ ผู้ชมที่เขาฟังด้วยตาก็มี ถ้าคนเล่น 80 คนในวงออเคสตร้า เคลื่อนไหวพร้อมเพรียงกัน เอาแค่ดูด้วยตา ไม่ต้องได้ยินเสียง เราก็พอรู้แล้วว่าดีแน่ เพราะพร้อมเพรียงกันหมด แต่ถ้าลองไม่ได้ยินเสียง แต่คนนั้นชักขึ้น คนนี้ชักลง ก็รู้สึกแล้วว่าเพลงไปคนละทาง”
หลัง 2 ปีผ่าน เด็กหนุ่มจากเมืองไทยจึงเดินทางกลับบ้าน พร้อมหอบเอาความรู้ขนานใหญ่ติดตัวกลับมาด้วย จากนั้นจึงเรียนต่อสถาบันในไทยที่เว้นวรรคไว้ให้จบตามหลักสูตร กระทั่งสำเร็จระดับปริญญา และได้มีโอกาสบรรเลงบทเพลงคอนแชร์โตสำหรับดับเบิลเบส (Double Bass Concerto)ครั้งแรกในเมืองไทยกับวงซิมโฟนีแห่งจุฬาฯ ควบคุมวงโดย ผศ.พอ.ชูชาติ พิทักษากร (ศิลปินแห่งชาติ)
ในสมัยนั้น คำถามยอดฮิตที่เด็กเรียนดนตรีต้องถูกถามหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ใช้ไว้ห้ามปราม คือเรียนดนตรี จบไปจะไปทำอะไร เราถามถึงประเด็นนี้กับชายที่นั่งอยู่ตรงหน้า เพื่อที่จะได้ยินคำสารภาพว่าเขาในวัยนั้น ก็คิดเรื่องนี้ไว้
“คำถามนี้มาให้ผมคิดตั้งแต่จบจากดุริยางค์ทหารเรือแล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่ คนที่จบจากดุริยางค์ทหารเรือ ก็จะรับราชการ ผมก็ไปทำงานรับราชการมา 4 ปีนะ แต่ผมอยากหาความรู้เพิ่มเติมต่อ เป็นรอยต่อช่วงที่ผมเข้าเรียนที่จุฬาฯ จบจากจุฬาฯ แล้ว ผมก็มารับราชการที่กรมศิลปากร แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ทางของเรา จึงลาออกมา และไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่หลายมหาวิทยาลัย
…แต่ในคำถามที่ว่า เรียนดนตรีมาแล้วจะทำอะไรสำหรับผมในวันนี้ อาชีพที่จบดนตรีมาแล้วทำได้ มีเยอะมาก คุณเป็นนักดนตรี คุณเล่นในวง คุณเป็นครูสอนดนตรีได้ เป็นนักธุรกิจนำเข้าเครื่องดนตรีก็ได้ เพราะคุณมีความรู้ด้านดนตรี สามารถให้ความรู้ด้านเครื่องดนตรีแก่ลูกค้าได้มากกว่าแค่ซื้อมาขายไป คุยกับนักดนตรีรู้เรื่อง หรือคุณจะไปเป็นซาวนด์เอนจีเนีย เป็นลูทิเยร์หรือช่างซ่อมได้ไหม ก็ได้อีก เป็นคอนดักเตอร์ก็เป็นได้ เป็นผู้จัดการวงออสเคสตร้าก็ได้ เพราะคุณมีความรู้ หรืออะไรที่เกี่ยวกับดนตรี คุณเป็นได้หมดเลย”
อาจารย์สอนวิชาดนตรี คืออาชีพที่ครั้งหนึ่งชายคนนี้เลือกที่จะเป็น อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกการสอนดับเบิลเบสในหลายมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือมหาวิทยาลัยรังสิต กระทั่งมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่หลายรุ่น
“ผมเรียนที่จุฬาฯ อาจารย์สมัชชาท่านสอนผม พอผมได้ไปเรียนที่เนเธอร์แลนด์เพิ่มเติม ผมก็หอบเอาตำรากลับมาด้วย ตอนเดินทางกลับ ผมโดนค่าเพิ่มน้ำหนักเพิ่มไปถึง 20 กิโลกรัม เพราะผมถ่ายเอกสารความรู้ด้านดับเบิลเบสมาทั้งห้องสมุดเลย นั่งหยอดวันละเหรียญๆ ช่วงเที่ยง เพื่อนๆ จะหาตัวผมได้ที่ห้องสมุด สมัยนั้นช่องทางการซื้อตำรานี่แทบจะหาไม่ได้ ก็ต้องถ่ายเอกสาร ถ่ายในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่เรียนหมด ก็ไปถ่ายตำราจากห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยอื่นต่อ บางเพลงก็เคยเรียน บางเพลงก็ไม่เคยเรียน แต่พอถึงวันที่เป็นอาจารย์ ก็ได้เอามาใช้สอนลูกศิษย์ที่เมืองไทย
…การสอนของผมเป็นการค่อยๆ เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์จริง ผมพูดเสมอว่าผมชอบครูที่สามารถเพอร์ฟอร์มให้ผมดูได้ นั่นยิ่งกว่าคำอื่นใด คุณพูดแต่ปาก แต่คุณไม่แสดงให้ผมดู ผมไม่สามารถเชื่อได้ หรือเล่นตามได้ เวลาผมสอน ผมจึงใช้วิธีการทำให้ดู และวิธีนี่คือจิตวิทยาทางหนึ่ง พอเด็กเห็นเราเล่น เขาก็จะเกิดความประทับใจ อยากเล่นได้อย่างนี้บ้าง เขาก็จะพยายามฝึกฝนให้เก่งขึ้นมาจนได้ และสมัยนี้ ยูทูปเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายมาก ผมสอนเด็กรุ่นใหม่ๆ เขาก็เปิดคลิปให้ดู ครูครับผมอยากเล่นเพลงนี้จังเลย เขาเล่นดีมาก ก็คล้ายๆ กัน คือครูเป็นยูทูปในยุคสมัยก่อน เขาก็อยากจะเล่นได้อย่างนี้”
ในฐานะอาจารย์ ทุกวันนี้เขาวางมือจากการเป็นผู้สอนในรั้วมหาวิทยาลัย จะมีก็เพียงศิษย์หนึ่งคนที่ตนยังถ่ายทอดทักษะความรู้ด้านดับเบิลเบสให้
“ตอนนี้ผมมีลูกศิษย์อยู่คนเดียว เป็นผู้ชาย และพอแล้ว เวลานักดนตรีจะเลือกลูกศิษย์ ไม่ใช่ว่ารับเลยนะ แต่เราจะมองว่าถ้าลงแรงกับเด็กคนนี้ ต้องไม่เสียแรงเปล่า นักเรียนคนนี้ของผมที่เหลืออยู่คนเดียว ผมสอนตั้งแต่เขาอยู่ ม.4 ตั้งแต่ยังไม่เป็นอะไรเลย จนตอนนี้เขาเรียนปี 1ที่มหิดลแล้ว ผมเห็นว่าเขามีแวว เพราะเขาเรียนเมเจอร์ดับเบิลเบส และตั้งใจมาก นิสัยดี ผมเลือกที่อุปนิสัยด้วย เขาเป็นเด็กที่นอบน้อม ถ่อมตน
…ผมไม่ได้อยากสอนลูกศิษย์ 10 คนเหมือนในอดีต แล้วไม่มีเวลาสอนเขา ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ลูกศิษย์ด้วย ถ้าคุณขวนขวายอยากจะได้วิชา คุณต้องตามอาจารย์ ไม่ใช่ว่าอาจารย์ต้องมาลากมาเรียน สมัยก่อน ใครมาหาผม ผมสอนทุกคน เป็นความคิดหว่านแห ได้ปลามา 10 ตัว ต้องมีปลาดีๆ อยู่ในนั้นอย่างน้อยหนึ่งตัวล่ะ แต่ปัจจุบัน ผมหาเพชรเม็ดเดียว คืองมนาน และถ้าผมพลาดจากเพชรเม็ดนี้ไป ผมจะเจ็บใจตัวเองมาก”
บทบาทหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดในวันนี้ของนักดับเบิลเบสคนนี้คือการเป็นนักธุรกิจ กับการก่อตั้งร้าน Bravo Music เพื่อเป็นแหล่งรวมเครื่องดนตรีสากลประเภทเครื่องสายมาตรฐานระดับโลก ให้เหล่านักดนตรีหรือผู้ที่เห็นค่าได้ครอบครอง อีกทั้งยังมีเซอร์วิส เวิร์คชอป ให้เช่า รับซ่อม และเปิดสอน (โดยนักดนตรีเฉพาะทาง)
“ในการเรียนการสอน สิ่งแรกที่จำเป็นคือเครื่องดนตรีที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนฝีมือของนักเรียน หรือทำให้นักเรียนอยากจะเจริญเติบโตต่อไปทางด้านดนตรี สมัยที่ผมสอนในมหาวิทยาลัย ไม่มีร้านที่มีเครื่องดนตรีเฉพาะทางเลย มีร้านที่หาซื้อได้อยู่ แต่ก็เป็นทางเลือกเดียว แล้วซื้อเบสมา ใช้ไป 2 ปี หน้ายุบแล้ว เด็กก็ต้องไปเสียเงินค่าซ่อมอีก สมัยนั้นยี่ห้อ Hofner จากเยอรมนีดังที่สุดแล้ว แต่พอผมมาทำธุรกิจนี้ จึงรู้ว่าเครื่องดนตรีที่ผมมีอยู่นี้เขาเป็นงานระดับโรงงาน ไม่ใช่ระดับมาสเตอร์
…พอรู้แล้วว่าเราอยากได้เครื่องดนตรีที่ดีจริงๆ และเพียงพอต่อผู้เล่น ผมก็ทำการปรับแต่งเองเลย คือเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว บินไปจีนเองคนเดียว ไปถึงโรงงาน แต่ก็ไปเจอแต่เบสที่ยังไม่ใช่มาตรฐานที่ดีและยังไม่ถูกใจ แต่ก็กลายเป็นว่าเป็นการต่อยอด ผมได้ไปงานแฟร์ และมีเพื่อนที่รู้จักกันสมัยเล่นดนตรีตอนเด็ก แนะนำให้รู้จักกับเพื่อนที่เป็นนักดับเบิลเบส แล้วเขาก็พาไปรู้จักคนทำชาวยุโรป เขาก็พาไปตลาดเยอรมนี จากนั้นก็ไปทั่วยุโรปเลย ฝรั่งเศษ เยอรมนี อิตาลี สาธารณรัฐเช็ก และอีกหลายที่ ไปเจอกับนักทำดับเบิลเบสระดับโลกที่เยอรมนี เช่น พอลแมน (Pollmann) ที่ทำตกทอดกันมาถึง 5 เจเนอเรชั่น หรือ เอมานูเอล วิวเฟอร์ (Emanuel Wilfer)
…จากนั้นก็รู้ลึกมากเข้าไปอีกว่าเครื่องสายที่ดี ต้องมีวัสดุจากต้นตระกูล เหมือนร้านอาหารที่มีสูตรตกทอด ซึ่งเป็นกิมมิกในการขายด้วย คนทำดับเบิลเบสเองก็ต้องมีสูตรเหมือนกัน และมีเรื่องวัสดุเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าง E.M. Pollmann ทำมา 5 รุ่นแล้ว ลองคิดภาพดูว่าเขามีไม้ที่อายุกว่า 200 ปี ซึ่งเป็นไปได้อย่างไร จนไปทราบว่า เป็นไม้จากบ้านเก่าที่มีอายุมาหลายร้อยปี ไม้เก่าจะไม้อะไรก็แล้วแต่ นำมาทำเครื่องสายแล้วจะดีกว่าไม้ใหม่”
แม้จะเริ่มต้นด้วยดับเบิลเบส แต่หากก้าวเข้าไปในอาณาจักร Bravo Music สายตาที่กวาดมองจะไปปะทะกับเครื่องดนตรีสากลประเภทสายอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะไวโอลินที่เรียงราย ซึ่งบางตัวในกรุเป็นผลผลิตจากสองมือนักทำไวโอลินชื่อก้องโลก อาทิ ฟรังเชสโก บิสโซลอตติ (Francesco Bissolotti) ที่เขาเดินทางไปพบและสั่งซื้อถึงบ้านของคนทำไวโอลินชั้นครูที่เมืองเครโมนา ประเทศอิตาลีมาแล้ว
“เมื่อเปิดร้านจริงจัง จากดับเบิลเบส ก็แตกไลน์ไปเป็นไวโอลิน เริ่มมีไวโอลินโพรเฟสชั่นนอลฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลี่ยน กระทั่งทุกวันนี้ มีไวโอลินในร้านทั้งหมด 2,000 ตัวแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมเล่นไวโอลินไม่เป็นเลย แต่เพราะขาย ผมจึงต้องศึกษา ต้องหัดเล่นเอง เล่นในสไตล์ตัวเอง จนตอนนี้เล่นเป็นแล้ว แต่ไม่ถึงขั้นเล่นเป็นเพลง เพราะการที่ผมเป็นคิวซี ผมไม่จำเป็นต้องรู้โน้ตก็ได้ แต่เล่นให้รู้ว่าเสียงดีหรือไม่ ผมไม่ได้ขายของด้วยวาจาอย่างเดียว แต่ต้องเล่นให้รู้ถึงเสียงของเครื่องดนตรีด้วย
…ลูกค้าของผมกลุ่มตลาดบนจะมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีอยู่แล้ว บางคนมีตำราเยอะกว่าผมเสียอีก ฉะนั้น การที่ผมจะขายของเหล่านี้ได้ ผมต้องรู้เยอะพอสมควร แต่นักดนตรีเขาจะสนใจแค่เสียง เวลาที่เขาจะเลือกเครื่องดนตรีสักชิ้น เสียงนี้ฉันพอใจแล้ว คือจบ ไม่ว่าจะรูปลักษณ์เป็นอย่างไร หรือใครทำก็ตาม แต่ถ้าเป็นนักดนตรีชั้นสูง เขาจะสนใจ ตัวอย่างคือนักไวโอลินระดับโลก อาจจะมีสตาร์ด (Stradivari Violin) ไว้ครอบครอง หรือได้ลองเล่นสักครั้งก็ยังดี
…ผมมีไวโอลินมาสเตอร์อยู่ 12 ตัว ตัวอย่างเช่นของช่างที่เป็นระดับอาวุโส คือฟรังเชสโก บิสโซลอตติ งานของแกเป็นที่ต้องการมาก ปีหนึ่งๆ เขาก็ทำได้มากที่สุด 6 ตัว ผมซื้อมา 4 ตัว และมีลูกค้าจับจองไปหมดแล้ว ราคาสูงมาก แต่ก็ไม่แปลกหรอก งานไวโอลินอิตาเลี่ยนมีราคาตามอายุและประสบการณ์ของช่าง แม้ผมจะเล่นไวโอลินไม่เป็นนัก แต่ก็ชอบไวโอลินในแง่ของงานฝีมือ เป็นงานไม้ เป็นงานศิลปะ และศึกษาเพื่อให้คุยกับลูกค้าได้ …แต่อย่างไร ผมมองว่าท้ายที่สุดของเครื่องดนตรี อยู่ที่การเซตอัพเพื่อทำให้สมบูรณ์แบบ พร้อมที่จะไปเล่นออกงาน ทั้งเรื่องจูนเสียง ตั้งสาย โครงสร้าง ปรับแต่งเสียงให้ออกมาดีที่สุด ตอนที่ผมขายดับเบิลเบส 30 ตัวแรก ผมเซตอัพให้หมดโดยไม่ได้ใส่ค่าแรงตัวเองลงไปเลย แต่ทำด้วยความรัก อยากให้ออกมาดี เราก็ได้ในแง่ของทักษะ ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ทำ”
การเซตอัพเครื่องดนตรีให้ออกมาดีพร้อม เป็นการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ทว่า มันยังแฝงความหมายมากกว่านั้น
“เวลาผู้ปกครองพาลูกมาซื้อเครื่องดนตรี แล้วเจอคนที่จะเลือกแต่ตัวที่ราคาถูกไว้ก่อน ผมมักจะบอกว่า คุณรู้ไหม ตอนเด็กๆ พ่อแม่ของผมไม่ได้สนับสนุนเครื่องดนตรีให้ผมนะ แต่คุณสนับสนุนเครื่องดนตรีให้ลูก แต่สิ่งแรกที่คุณพูด คุณก็ทำร้ายลูกแล้ว คือ ซื้อถูกๆ ให้ไปก่อน อย่าไปซื้อของแพง เดี๋ยวก็เลิกเล่น นี่คุณดูถูกลูกตัวเองมากเลยนะ และลูกคุณเลิกแน่นอน เพราะคุณเอาสังกะสีไปให้เขาสีน่ะ เสียงมันบาดหู เจ็บนิ้วอีก ชั่วโมงเดียว เด็กก็โยนทิ้งแล้ว แต่ถ้าคุณลงทุนซื้อตัวที่เป็นมาสเตอร์หรือจากเวิร์คชอปที่ทำดีๆ ลูกคุณก็ต่อยอดได้เร็วขึ้น อยากอยู่กับมันนานขึ้น ความคิดของอาจารย์ฝรั่งที่สอนดนตรีเขาก็แบบนี้เหมือนกัน เพราะทุกคนเคยผ่านจุดนั้นมาหมดแล้ว เช่นว่า ถ้าพ่อซื้อให้ฉันดีๆ กว่านี้ ฉันคงซ้อมได้วันละ 3 ชั่วโมง แทนที่จะซ้อมแค่ 45 นาที แล้วโยนทิ้ง นี่จึงเป็นการจุดประกายว่าทำไมผมต้องเซตอัพให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะอยากให้คนซื้อได้เล่นจริงๆ และมีความสุขกับมัน”
หลังจากจับเครื่องดนตรีในขอบข่ายของการทำธุรกิจด้วยแล้ว หากเมื่อได้สัมผัสดับเบิลเบสตัวโปรดในฐานะของนักดนตรีคนหนึ่ง หรือยามที่ต้องก้าวขึ้นเวทีแสดงอย่างเป็นจริงเป็นจัง สุนทรียะทางเสียงเพลงจะลดน้อยถอยลงจากแต่ก่อนบ้างไหม... เราตั้งข้อสงสัย
“ผมกลับเล่นได้ดีกว่าเดิม แปลกนะ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะประสบการณ์ที่มากขึ้นด้วยหรือเปล่า แต่ทุกวันนี้ผมรู้สึกผ่อนคลายกับการเล่นดนตรีมาก แต่ก่อนผมซ้อมวันละหลายชั่วโมง ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่ดี แต่ร่างกายตึงเครียดไปหมด แต่พอวันนี้ที่เรียกว่าตัวเองว่าเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ผมทำได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า
…ความสุขของผมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แค่ผมได้เล่นดนตรี โดยเฉพาะการได้เล่นกับน้องๆ ในวงดับเบิลเบสอองซอมเบิล เป็นการเล่นดนตรีที่มีความสุขที่สุดสำหรับผมแล้ว เพราะเราได้คุยกัน เหมือนกับในงานสังสรรค์ คุณนั่งอยู่คนเดียว คุณมีความสุขเหรอ แต่ถ้าได้ชนแก้วกับเพื่อน ความสุขมหาศาลเลย ถ้าถามว่าแล้วเล่นในวงออเคสตร้าใหญ่ล่ะ นั่นก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง ผมก็ยังเล่นให้กับบางกอกซิมโฟนีออเคสตร้าอยู่ แต่ก็คงไม่สุขมากกว่าการเล่นในวงที่มีแต่คนกันเอง เหมือนไปงานเลี้ยง คนเป็นร้อย คุณก็จะสนุกอยู่แค่กลุ่มเล็กๆ ของคุณ คุณไม่สามารถไปชนแก้วกับทุกโต๊ะได้ ออเคสตร้าเป็นความสุข แต่เล่นอองซอมเบิลเป็นความสุขที่อิ่มใจ
…กับธุรกิจที่ทำอยู่ ก็อาจจะเหนื่อยบ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นธุรกิจที่ผมมีความรักในสิ่งนั้น การที่เราจะอยู่กับสิ่งใดได้นานๆ ต้องมีความชอบเป็นหลัก ถ้าผมไม่ชอบจริงๆ ผมเลิกทำไปนานแล้วล่ะ แต่นี่ผมยังอยากเรียนรู้ต่อ ยอดต่อไปอีก ต่อให้ชั่วชีวิตผม ผมก็ยังเรียนรู้ความรู้ในเครื่องสายได้ไม่หมด อย่างล่าสุดก็เทคโนโลยีที่เรียกว่า CT Scan ที่ทำให้เรารู้ว่าข้างในไวโอลินสตาร์ดเป็นแบบนี้ ผมก็ไปซื้อซีดีมาดู โอ้โห! สแกนเห็นด้านในละเอียดเลย ว่าทำไมถึงเสียงดีขนาดนี้
…ผมเป็นคนแอคทีฟครับ อยู่นิ่งไม่ได้ ทำงานนั้นเสร็จ มาทำงานนี้ต่อ คือชอบด้วยนะ ไม่เคยหยุดเลย ผมดูท่านอาจารย์ระพี สาคริก เป็นแบบอย่าง ท่านยังทำงานอยู่ถึงทุกวันนี้ และท่านเคยพูดประมาณว่า ความรู้น่ะ เรียนไม่เคยหมดหรอก เราเรียนไปได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการทำงานก็คือการเรียนรู้ จนสิ้นลมหายใจ เราก็ยังเรียนได้ไม่หมดอยู่ดี”
หากเปรียบทุกบทบาทของ นคร กิตติอุดม เสมือนเป็นจังหวะ เขาก็คือนักดนตรีที่เล่นได้ดีในทุกจังหวะนั้น ที่สำคัญคือล้วนเป็นจังหวะที่มีจุดตั้งต้นมาจากความรักที่จะทำ และยังยินดีที่จะเรียนรู้ทุกจังหวะนั้นอยู่ทุกวันอย่างที่กล่าวปิดไว้
บทเพลงสุดท้ายจากวงดนตรีขนาดย่อม อันยึดที่ทางในสตูดิโอเพื่อสร้างเสียงเพลงกล่อมคนฟังก็ปิดฉากลงแล้วเช่นกัน ไม่มีจังหวะของเพลงใดที่ไม่มีวันจบลง คงมีแต่จังหวะในชีวิตของมนุษย์ที่ยังมีลมหายใจเท่านั้น ที่ต้องดำเนินต่อไป.

 

Copyright 2006 www.bravomusic.co.th all rights reserved.